Category Archives: พุทธศาสนา

สมดุลแห่งชีวิต

“เต๋าที่อธิบายได้นั้น มิใช่เต๋าที่แท้จริง”
ขยายความได้ว่า เต๋าอธิบายไม่ได้ เต๋าไม่มีตัวตน เต๋ามีก่อนสิ่งอื่นๆ
มีก่อนจักรวาลจะเกิด เต๋าว่างเปล่า!

ถ้าเต๋าอธิบายได้ว่าเต๋าคืออะไร แปลว่าเต๋าจะถูกจำกัดความว่ามีแค่นั้น
เต๋า คือ ทุกสิ่ง แปลว่ามันคือทุกสิ่ง
เต๋า คือ จักรวาล แปลว่าเต๋าคือจักรวาล
เต๋า คือ ธรรมชาติ แปลว่าเต๋าคือธรรมชาติ

หากลองแทนคำว่าเต๋าเป็นคำว่าธรรมหรือนิพพาน ก็จะได้ประโยคเหมือนกัน

หากจะอธิบายให้เข้าใจแบบคนปัจจุบันที่ยังลุ่มหลงแบบเราๆ ท่านๆ
รักที่อธิบายได้นั้น มิใช่ รักที่แท้จริง
ขยายความได้ว่า รักอธิบายไม่ได้ รักมันไม่มีตัวตน

ถ้ารักอธิบายได้ว่ารักคืออะไร แปลว่ารักจะถูกจำกัดว่ามีแค่นั้น
รัก คือ ความคิดถึง แปลว่ามันคือความคิดถึง
รัก คือ ความ คิดถึงและห่วงใย แปลว่ามันคือคิดถึงและห่วงใย
รัก คือ รู้สึกดีต่อกัน แปลว่ามันคือความรู้สึกดีต่อกัน

ขยายความแบบนี้น่าจะเข้าใจกันได้ง่ายดีนะครับ 😀

ในโลกเราตอนนี้มองแต่ด้วยตาของบุคคลผู้รู้จักแต่วัตถุนิยม
เรารู้จักแต่วัตถุด้วย แล้วก็รู้จักแต่จะนิยมวัตถุด้วย
เป็นความรับรู้แบบหยาบๆ ที่ไม่เข้าถึงความลึกซึ้งของจิตวิญาณ
เหมือนเด็กอมมือที่รับรู้เท่าที่ตัวเองเห็นและฟัง

เพราะเราถูกสะสมเป็นความทรงจำในสมองผ่านการ ดู ฟัง ดม กิน สัมผัส
ว่าสิ่งนี้สวย ไพเราะ หอม อร่อย นุ่ม

เท่านี้ไม่พอ เรายังถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่า กำหนดสิ่งต่างๆ ด้วยชื่อ
เช่น เสียงแบบนี้เรียกว่าเพลงโอเปร่า รสชาติแบบนี้เรียกว่าพิซซ่า หน้าตาแบบนี้เรียกว่าผู้หญิง

และเราก็ถูกกำหนดต่อในชั้นที่สามว่า เพลงแบบนี้เพราะ แบบนี้ไม่เพราะ
รสชาติแบบนี้อร่อย แบบนี้ไม่อร่อย หน้าตาแบบนี้สวย แบบนี้ไม่สวย

เราเจอการกำหนดสิ่งหนึ่งถึงสามชั้น!
ไม่แปลก ที่เราจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าที่แท้แล้วสิ่งนั้นคืออะไร

แ่ต่ไม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ล้วนแต่เป็นธรรมชาติทั้งสิ้น
หน้าต่าง ที่ทำจากโลหะ เกิดจากเหล็ก มาจากดิน
เตียง เกิดจากไม้ มาจากดิน มาจากน้ำ
เรา เกิดจากแม่ มาจากอสุจิพ่อ มาจากเลือด มาจากอาหาร จากแร่ธาติ จากน้ำ
พลาสติก เกิดจากการสังเคราะห์ เกิดจากน้ำมัน เกิดจากซากสัตว์ เกิดจากเนื้อหนัง เกิดจากแม่ มาจากอสุจิพ่อ มาจากเลือด มาจากอาหาร จากแร่ธาติ จากน้ำ

ผมนั่งจับต้องลูบคลำประตู กระเบื้อง แขนขา เหมือนคนบ้าอยู่พักใหญ่ๆ
ก็เพิ่งมองภาพได้ชัดเจนว่า ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ มาจากธรรมชาติ
เพียงแต่ถูกแปรเปลี่ยนรูปร่างแตกต่างกันออกไป
สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ เพราะมันต้องแปรเปลี่ยนไปตามความสมดุลของธรรมชาติ
จนค่อยๆ เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหลายการแปรเปลี่ยนเราก็กำหนดไว้ว่า มันเรียกว่าการดับไปของสิ่งนั้น

ผมไม่แปลกใจแล้วหละ ว่าทำไม มหาบุรุษคนหนึ่งเมื่อ 2600 ปีก่อน นั่งใต้ต้นไม้และสามารถรู้ทุกอย่างในจักรวาล และมหาบุรุษนั้นเรามอบชื่อให้แก่ท่าน เพื่อให้เข้าใจเหมือนกันทั้งโลกว่า “พระพุทธเจ้า”
พระพุทธเจ้า ไม่รู้หรอกว่าโลกเราอยู่บนกลุ่มดาว ที่คนปัจจุบันกำหนดเรียกมันว่า ทางช้างเผือก
พระพุทธเจ้า ไม่รู้หรอกว่า กลุ่มดาวที่เราอยู่ อยู่ในกลุ่มดาวกว้างใหญ่มหาศาล ที่คนปัจจุบันกำหนดเรียกว่า จักรวาล
ผมเชื่อว่า พระพุทธเจ้า พระองค์รู้จักสิ่งที่ไม่มีอันสิ้นสุดเกินจักรวาลออกไป ได้จากภายในตัวของท่านเอง

เพราะตัวของเราเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นต้นไม้ มดเป็นธณรมชาติ จักรวาลเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นจักรวาล
ว่าแต่ แล้วอะไรล่ะที่ใหญ่ไปกว่าจักรวาล ผมไม่สามารถบอกได้ ใครก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะปัญญามนุษย์ยังสำรวจไม่พบ
จึงไม่ีใครตั้งชื่อ หรืออาจจะมีตั้งชื่อ แต่ผมไม่รู้

แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไร สิ่งๆ นั้น ไม่มีตัวตน อธิบายไม่ได้ มีก่อนสิ่งอื่นๆ มีก่อนจักรวาลจะเกิด และว่างเปล่า!

ดังนั้นสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน แปรเปลี่ยนรูปร่างต่างกันไป
สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ เพราะมันต้องแปรเปลี่ยนไปตามความสมดุลของธรรมชาติ
จนค่อยๆ เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหลายการแปรเปลี่ยนเราก็กำหนดไว้ว่า มันเรียกว่าการดับไปของสิ่งนั้น

ถ้าสรุปแบบธรรมะผสมเต๋า ก่อนหน้าทุกอย่างว่างเปล่าแล้วจึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่และแปรเปลี่ยนจนมันดับไปเป็นว่างเปล่าอีกครั้ง

ดังนั้น หากเข้าใจแนวทางการรักษาสมดุลของธรรมชาติ
ก็จะเข้าใจ แนวทางการรักษาสมดุลของร่างกาย
และจะเข้าใจแนวทางการรักษาสมดุลของสิ่งต่างๆ
เพราะธรรมชาติและร่างกายและทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสิ่งเดียวกัน
คอยสนับสนุนหักล้างซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ความว่างเริ่มมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาทดแทน

ถ้าเปรียบเทียบสัตว์ หมายังมีความสมดุลเป็นธรรมชาติมากกว่ามนุษย์เสียอีก..
เช่น รูปแบบ (pattern) ของหมา ถูกกำหนดมาว่า นอนเพราะเหนื่อย กินเพราะหิว ถึงฤดูจึงผสมพันธุ์ ดุร้ายเมื่อต้องป้องกันตัว

แต่มนุษย์มีความคิด ที่หลากหลายไม่จำกัดเหมือนหมา รูปแบบจึงซับซ้อนกว่า และหลดจากความเป็นสมดุลได้
เช่น อาจจะนอนเพราะเหนื่อย ขี้เกียจ ไม่มีอะไรทำฯลฯ กินเพราะหิว อยาก ลองฯลฯ ดุร้ายเพราะป้องกันตัว อันทพาล หาเรื่อง ไม่มีอะไรทำฯลฯ

แล้วกระนั้น ความซับซ้อนใน รูปแบบ (pattern ) ดังกล่าวของมนุษย์ ถูกกำหนดลงไปอีกมากมาย เช่น
ถูกศาสนากำหนดว่า ดีหรือชั่ว อันนี้ก็แล้วแต่คำสอนของศาสนานั้นๆ
ถูกกำหนดด้วยกฏหมายว่า ถูกหรือผิด อันนี้ก็แล้วแต่สังคมแวดล้อมของคนๆ นั้นอยู่
ถูกประเพณีกำหนด ถูกพ่อแม่กำหนด ถูกเพื่อนกำหนด ต่างๆนานาๆ

เลยทำให้ความเป็นมนุษย์มากมายหลากหลายรูปแบบ โชคร้ายก็สูญเสียความสมดุลอันเป็นธรรมชาติไป โชคดีก็ได้พบแนวทางค้นหาความเป็นสมดุลอันเป็นธรรมชาติ

เพียงเพราะเราถูกกำหนดมันจากภายนอก แล้วเราก็ไปหลงสิ่งภายนอก แถมยกย่องสิ่งภายนอกตัวเราอีกต่างหาก
โดยที่เราไม่ได้มองกลับเข้ามาหาตัวเองว่า ความสุขอยู่ที่เรา ความทุกข์อยู่ที่เรา ความใคร่อยู่ที่เรา ความอยาก สมดุลอยู่ที่เรา
เพียงแค่เราเฝ้ามองตัวเอง นั่งฟังสิ่งที่ตนเองเรียกร้องเงียบๆ โดยปราศจากความคิดไปเอง ความฟุ้งซ่าน แล้วผมเชื่อว่าเราจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าความสมดุลอันเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมะ ความเป็นเต๋า จักรวาล ชีวิต มันเป็นอย่างไร

สิ่งที่ผมเขียนมา ผมอยากจะบันทึกไว้เตือนตัวเอง และเป็นข้อคิดให้แก่ทุกๆ ท่าน ไม่ได้ต้องการเขียนให้สวยหรู แต่ต้องการบันทึกเพื่อให้ตัวเองกลับมาอ่านอีกครั้ง และรู้สึกเกิดปัญญาเข้าใจอีกครั้ง ในอนาคตที่อาจจะมีโอกาสหลงผิด และเสียสมดุล

หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจนะครับ 😀

ขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ท่านพุทธทาส ที่ทำให้เกิดปัญญาเพียงแค่อ่านได้ 47 หน้า ผ่านหนังสือ “สรรนิพนธ์ พุทธทาส ว่าด้วย เต๋า”

ปล1. สังเกตุว่า หลายๆ เนื้อหาเขียนใช้ข้อความซ้ำ เพราะมันคือสิ่งเดียวกัน
ปล2. สังเกตุว่า ตอนต้นและตอนจบ เหมือนกัน เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกัน
ปล3. สังเกตุว่า แนวคิดเหมือนกันหมดแต่เขียนหลายแบบ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกัน
ปล4. แม้กระทั้ง ปล. 1 ถึง ปล.3 มันก็ยังเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกกันได้
ปล5. สรุปความเป็น บล็อกนี้ได้จาก บทความนี้

Share

กรรมคืออะไร ฤ ลิขิตฟ้า หรือจะสู้ มานะตน

กรรม คือ อะไร?
หากใครรู้ธรรมเพียงผิวเผิน หรือไม่เข้าใจความหมาย อาจจะเข้าใจผิดได้ว่า กรรม นั้น คือ ทุกข์ กรรม นั้น คือสิ่งต้องรับ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ กรรม นั้น เป็นสิ่งไม่ดี แม้แต่กรรมนั้นมีคนบัลดาลให้เกิดแก่เรา

แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรรม แปลเป็นไทยคือ กากระทำ ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบ

1. ทำด้วยกาย เรียกว่า “กายกรรม”
2. ทำด้วยใจ เรียกว่า “มโนกรรม”
3. ทำด้วยคำพูด เรียกว่า “วจีกรรม”

พระพุทธเ้จ้าทรงตรัสไว้ว่า

“เรากล่าวเจตนา (ความจงใจ) ว่าเป็นกรรม เพราะคนจงใจ คือมีใจมุ่งแล้ว จึงทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง”

ดังนั้นถ้าแปลกลับกัน แปลว่า สิ่งใดไม่ จงใจทำนั่นไม่ใช่กรรม.เช่น เดินไปเหนียบมด นั่นถือว่าไม่จงใจ ไม่ใช่กรรม เรียกว่า กรรมสักแต่ว่าทำ ถึงไม่ตั้งใจแต่ก็อาจจะให้โทษได้เหมือนกัน ไม่มากก็น้อย

ดังนั้น สรุปความว่า กรรม คือ การกระทำ ที่จงใจ ของเรา ไม่จะจะแค่คิด แค่พูด หรือ กระทำให้เห็น ถือเป็นกรรมหมด

อะไรคือกรรม

หลายคนเชื่อแบบผิดๆ ว่า กรรม มีผู้บันดาลให้เกิดกับเรา ไม่ว่าจะทุกข์ หรือ สุข นี่จึงเป็นเหตุให้เราทั้งหลายกลัวกรรม กราบไหว้ผู้บันดาลกรรมทั้งหลาย และผู้ที่เราเชื่อว่าสามารถบันดาลกรรมดีให้แก่เราได้อย่างเกินพอดี

แม้แต่ในบางแห่ง ก็สอนแบบพระพุทธศาสนว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน จะสุข จะทุกข์ ก็เพราะกรรม ทำให้คนกลัวกรรม เหมือน กลัวผู้บันดาล

แต่ในความเป็นจริง พระพุทธศานา สอนให้เรารู้จักกรรม และอยู่เหนือกรรม โดยการควบคุมการกระทำของตนเองในปัจจุบันให้ดีเท่านี้ก็เรียกว่าเราได้กระทำกรรมดีแล้ว ดังนั้นผลของกรรมที่จะได้รับ ย่อมดีตาม

เช่น ทำกรรมด้วยการ บริจาคทาน หรือ นั่งสมาธิ ผลที่ได้คือความสุข ความอิ่มเอิบใจ ใจเบาสบาย นั่นคือเกิดความสุขแก่เรา หรือภาษาศาสนา เรียกว่า เกิดบุญแก่เรา

ดังนั้น เวลาเราจะแผ่เมตตา ให้เรานึกถึง และ รับรู้ความรู้สึกถึงความสุขที่เราเคยกระทำดีไว้ ผลบุญที่ได้จะบังเกิดมหาศาล และเพิ่มความสุขให้เราเข้าไปอีก (เพิ่มบุญ)

ลิขิตฟ้า หรือจะสู้ มานะตน

ในหนังสือ The Top Secret ของทันตแพทย์สม สุจีรา ได้เขียนไว้ว่า

“มนุษย์มีกรรมเหมือนสัตว์อื่นๆ แต่มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียว ที่เปลี่ยนแปลงกรรมได้”

เพราะมนุษย์มีความคิด ความรู้สึก เลือกที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะดี หรือจะชั่ว
ไม่ว่ากรรมเก่าเราจะทำให้ชีวิตชาตินี้เราจะตกทุกข์ได้ยากเพียงใด
เราก็สามารถอดทน ขยัน และเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีได้เช่นกัน

ตายจากชาติที่แล้ว เกิดมาใหม่ในชาตินี้ ก็เปรียบเหมือน การนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาวันใหม่
เมื่อวาน ขี้เกียจ ไม่ไปเดินเร่ขายของ จงไม่มีรายได้
แต่วันนี้ ตื่นมาพร้อมความไม่มีเงินเมหือนเดิม แต่ตั้งมั่นว่าจะขายของ และก็ออกเดินเร่ขายของ จึงทำให้วันนี้มีเงิน

นี่คือการเปลี่ยนแปลงกรรม หรือเรียกว่า ลิขิตชีวิตตัวเองจากมานะของตนเอง โดยปราศจากการอ้อนวอนแล้วนั่งนอนรอผู้บันดาล

ดังนั้นมนุษย์ไม่เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน ที่มีวิถีชิวิตเป็นรูปแบบ ไม่สามารถทำอะไรได้ เกิดมาชาติหนึ่ง รู้จักแต่เพียง กิน ถ่าย ผสมพันธุ์ นอน เท่านั้นเอง

แต่ก็มีมนุษย์หลายคน ทำตัวเหมือนสัตว์เดรัจฉาน และบ่นถึงชีวิตตัวเองว่าเกิดมาอาภัพ ทุกสิ่งไม่เพรียบพร้อมได้แต่ อ้อนวอนผู้บันดาล แล้วนั่งงอมืองอเท้ารอไปวันๆ

เลือกที่จะเป็น

ดังนั้น จึงมี ผู้รู้ เปรียบเทียบการมาการไปของคน ไว้ 4 แบบ

1. มาสว่าง ไปสว่าง – อดีตทำดี ปัจจุบันก็ยังทำดี
2. มาสว่าง ไปมืด – อดีตทำดี แต่ปัจจุบันทำชั่ว
3. มามืด ไปสว่าง – อดีตทำชั่ว แต่ปัจจุบันกลับใจทำดี
4. มามือ ไปมืด – อดีตทำชั่ว ปัจจุบันก็ยังชั่วเหมือนเดิม

เราเกิดแบบเช่นไร เกิดมาแบบอาภัพ(มืด) หรือเกิดแบบเพรียบพร้อม(สว่าง) เราย่อมรู้ตัวเอง
ส่วนปัจจุบัน เลือกดูก็แล้วกัน ว่าจะ ไปแบบอาภัพ(มืด) หรือไปแบบเพรียบพร้อม(สว่าง)

เลือกแบบไหน ก็ทำแบบนั้น เมื่อรู้ว่ากำหนดชะตาตัวเองได้ ก็เริ่มกำหนดเสียตั้งแต่ตอนนี้
เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือเปล่า ถ้าไม่ทำ แล้วเกิดชาติใหม่แบบอาภัพคงไม่มีใครช่วยได้

ข้อมูลอ้างอิง
กรรมคืออะไร โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
กรรมคืออะไร
ดับข้อง…ไขใจ 11 วัดสังฆทานธรรม

Share

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย…น้ำเต้าน้อยจะถอยจม

ไม่ว่าจะประมาทในการคิด
หรือประมาทในการพูด
หรือประมาทในการฟัง

มีโทษอย่างยิ่งทั้งนั้น ความประมาทในทั้งสามประการเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องถึงกัน ประมาทอย่างหนึ่งอย่างใดก็เป็นเหตุให้ประมาทพร้อม เกิดโทษพร้อมได้จริง ดังเช่นแม้มีความคิดเชื่อถือในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ความคิดเชื่อนั้นก็ย่อมไม่หยุดอยู่เพียงที่ความคิดเท่านั้น

ย่อมจะสืบต่อไปเป็นคำพูดด้วยเป็นธรรมดา ถ้าประมาททำให้เกิดความเชื่อที่ไม่ถูกไม่จริง แต่เป็นความเชื่อที่ผิดที่ไม่จริง เมื่อสืบต่อเป็นคำพูด ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิดจากความจริงด้วย ผู้พูดจะมีเจตนาร้ายหรือไม่มีเจตนาร้าย ผลร้ายก็ย่อมเกิดแน่นอนเป็นธรรมดา

อย่าลืม คำพูดของคนนั้นมีอิทธิพลแรง มีอิทธิพลสูง ทั้งในทางทำลาย และทั้งในทางสร้างสรรค์ นั้นก็เพราะเกิดจากการฟังเป็นสำคัญ เสียงพูดที่ไม่มีการได้ยินได้ฟัง เสียงก็ไม่มีความหมาย แต่แน่นอน เสียงพูดต้องมีผู้ได้ยินได้ฟังเป็นธรรมดา

จึงต้องมีความหมายเสียงนี้แหละ ที่ทำให้เกิดความเชื่อนี่แหละ ที่ทำได้ ให้คนดีถูกกดให้ต่ำต้อย คนชั่วเลิศลอยด้วยถูกยก อะไรที่เกิดตามมาจะเป็นผลดีได้หรือ ถึงยุคเช่นนี้เมื่อไร เมื่อนั้นก็ใช่ยุคมืด

“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม
ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน”

คำพยากรณ์แต่โบราณนานมานี้ น่าจะบอกว่ายุคมืดจะมาถึง คือยุคที่คนดีจะถูกเหยียบย่ำ คนชั่วจะได้รับยกย่อง ซึ่งต้องเป็นผลของกรรม ที่ได้ทำกันมา ทั้งกรรมชั่ว และทั้งกรรมดี กรรมที่เอื้อมมือมาถึงแล้ว

อย่างไรก็ตาม เราทุกคนพึงหลีกให้พ้นการเป็นมือแห่งกรรมชั่ว ที่จะเหยียบย่ำคนดี และหลีกให้พ้นจากการเป็นมือแห่งกรรมดี ที่จะยกย่องคนชั่ว เพราะจะเป็นการร่วมสร้างบ้านเมืองของตนให้สิ้นความงดงาม ที่จะเกิดจากกำลังใจของคนดี ที่จะเกิดจากกำลังความสามารถของคนดี

บ้านเมืองจะเต็มไปด้วยความเลวร้ายที่เกิดจากกำลังใจของคนชั่ว ที่จะเกิดจากกำลังความสามารถของคนชั่ว พึงรอบคอบในการดูให้รู้จริง ว่าใครดี ใครชั่ว รอบคอบ ในการฟังเสียงบอกเล่า จึงจะช่วยประเทศชาติให้สวัสดีได้ และช่วยตนให้พ้นบาปได้

การพูด กับ การฟัง สองอย่างนี้ยากจะชี้ลงไปได้ ว่าอย่างไหนสำคัญกว่ากัน พูดแล้วต้องมีการฟัง เช่นนี้ก็เห็นได้ชัดว่า ต้องเกี่ยวเนื่องกันมีความสำคัญเสมอกัน แต่โดยมีความเชื่อเข้าเป็นเรื่องใหญ่ พูดแล้ว ฟังแล้ว เชื่อแล้ว เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ความเชื่อมีความสำคัญที่สุด สำคัญกว่าการพูดและการฟัง

พูดได้ ฟังได้ เชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ ความเชื่อมีความสำคัญตรงนี้ ตรงที่ฟังแล้ว เชื่อเลย ไม่พิจารณาให้เห็นความถูกผิด ความจริงความเท็จ ที่ได้ยินได้ฟัง เชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟัง เชื่อก็คือเชื่อว่าเป็นความจริงตามที่ได้ยินได้ฟัง จากเสียงบอกเสียงเล่า

ความจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้พูดอาจรู้ แต่ผู้ฟังไม่น้อยนักที่เชื่อว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังคนนั้นบอกคนนี้เล่า เป็นเรื่องจริง

น้อยนักที่ฟังแล้วไม่เชื่อ ไม่สนใจ ฟังแล้วก็แล้วกันไป ผู้ฟังประเภทหลังนี้โชคดี ที่ไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อของเสียงบอกเล่า นับว่าไม่ทำบาปแก่บางชีวิตของบางผู้บางคน ที่อาจไม่ควรต้องรับบาปเป็นความสกปรกจากปากคนใจสกปรก ที่ในโลกมีมากมายนัก เพราะกิเลสยังไม่เบาบาง

ความเชื่อเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ พึงมีสติให้เสมอเมื่อจะเชื่อข่าว หรือเชื่อคำบอกเล่าของผู้ใดผู้หนึ่ง ตราบใดที่กิเลสยังครอบงำใจคนอยู่เกือบทุกถ้วนหน้า เสียงบอกเล่าก็หาอาจเชื่อได้เสมอไปไม่

เป็นผู้ฟังต้องรอบคอบให้อย่างยิ่ง มีสติ ใช้ปัญญา ให้เต็มที่ ให้สมกับที่มีบุญนักแล้ว ได้เกิดเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา อัญเชิญพระธรรมคำทรงสอนไว้ในหัวใจ ในชีวิต ให้เป็นผู้มีกายวาจาใจ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์โทษภัย ทั้งแก่ตนเอง และทั้งแก่ใครๆ ทั้งนั้น

ซึ่งเป็นไปได้ที่แม้เริ่มต้นแล้วย่อมแผ่ขยายยิ่งใหญ่ไปเป็นธรรมดา ให้เป็นความทุกข์ความร้อนของประเทศชาติ และของพระพุทธศาสนา ก็เป็นไปได้ เริ่มที่ความเชื่อที่เกิดแต่ความชั่วร้ายนานาประการ จากบุคคลนานาชนิด ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งใกล้ตัวเราทั้งไกลตัวเรา

สติในความเชื่อจึงจำเป็นอย่างยิ่งแก้ไขความเชื่อ ที่อาจผิดไปแล้ว ให้ถูกได้ด้วยกันทุกคน แม้มีความจริงใจที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ อันเกิดจากคนมากมีกิเลส ทุกข์ที่ครองบ้านครองเมืองที่รักของเราอยู่ อย่างน่าสะพรึงกลัวนัก

: แสงส่องใจ วันมหาจักรี-วันเถลิงศก ๖ เมษายน-๑๓ เมษายน ๒๕๔๙
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
: ณ วัดญาณสังวรารามฯ

คัดลอกจาก…คุณ I am
http://www.dhammajak.net

Share