Tag Archives: ไทชิ

รำไทชิ ชี่กง ฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเรื้อรัง


การรักษาด้วยยาอาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากการใช้ยาแบบพ่นเข้าปากเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมักป่วยด้วยโรคดังกล่าว วิธีรับมือที่เหมาะสมที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการกำเริบ รวมไปถึงการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของปอด ก็จะช่วยให้อาการกำเริบลดลง

ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า วิธีของแพทย์ตะวันตกนิยมให้ออกกำลังกายที่ต้องอาศัยกล้ามเนื้อทุกส่วน เช่น วิ่งลู่ ปั่นจักรยาน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เมื่อออกกำลังกายด้วยวิธีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง 20-30 นาทีต่อวัน จำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 6 สัปดาห์ สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ ทำให้อาการกำเริบลดน้อยลง

แต่สำหรับประเทศไทยวิธีดังกล่าวกลับไม่เป็นผลนัก ศ.พญ.สุมาลี อธิบายว่า ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยใช้วิธีดังกล่าวในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมาก่อน แต่ผู้เข้าร่วมน้อย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ บางทีวิ่งลู่แล้วมักจะหกล้ม และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงพยายามวิจัยวิธีออกกำลังกายแบบใหม่ที่สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ สุดท้ายคือการออกกำลังกายด้วย “ไทชิ ชี่กง”

“ไทชิ ชี่กง เป็นการนำเอาท่ารำไทเก๊กของจีน 9 ท่า ซึ่งมีข้อดีคือเป็นการออกกำลังกายที่อาศัยการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อทุกส่วนแบบช้าๆ มาผสมผสานกับการใส่วิธีการหายใจที่ถูกต้องตามอย่างแพทย์ตะวันตก ทำให้เหมาะสมกับคนทุกวัย ที่สำคัญสามารถทำได้เองที่บ้านหรือทำพร้อมกันเป็นกลุ่มได้” ศ.พญ.สุมาลี กล่าว

สำหรับท่ารำไทชิ ชี่กง ทั้ง 9 ท่านั้น ศ.พญ.สุมาลี อธิบายว่า ท่ารำไทเก๊กมีจำนวนมาก จึงได้คัดเลือกท่าที่ง่ายต่อการใส่ลมหายใจประกอบมา 9 ท่า เพื่อทำการวิจัยและทดลอง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงประสบความสำเร็จ โดยแต่ละท่าจะมีการกำหนดลมหายใจ และต้องทำซ้ำกันไปมาวันละประมาณ 20-30 นาที จำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์

“จากการศึกษาในผู้ป่วยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวพบว่า ผู้ป่วยมีการเผาผลาญออกซิเจนน้อยลง มีปริมาตรการหายใจเพิ่มขึ้น สามารถออกกำลังกายสูงสุดได้มากขึ้น ปอดหายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เป็นต้น โดยรพ.รามาฯได้นำไทชิ ชี่กงมาใช้ในการบริการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2550 พบว่าอัตราคนไข้อาการกำเริบลดลง 26-27% ขณะที่การป่วยฉุกเฉินลดลงถึง 50% แม้จะหยุดออกกำลังกายก็พบว่าสามารถช่วยคงสมรรถภาพของปอดไปได้นานประมาณ 6 เดือน” ศ.พญ.สุมาลี กล่าว

นอกจากโรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว ล่าสุดพบว่า มีอีกหลายโรงพยาบาลที่นำ “ไทชิ ชี่กง” ไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ศ.พญ.สุมาลี เล่าว่า เนื่องจากได้ไปนำเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีความสนใจ โดยได้ทำเป็นซีดีไกด์ไลน์ให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆในการนำไปบริการรักษาผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับ แต่สปสช.มีค่าตอบแทนให้แก่หน่วยบริการหากสามารถลดอัตราการป่วยหรือการกำเริบได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ โรงพยาบาลรามาธิบดีจะเปิดการสาธิตการออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ไทชิ ชี่กง ให้แก่ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่เวลา 07.00-12.00 น. ซึ่งภายในงานจะมีการทดสอบสมรรถภาพปอด การเป่าเครื่องวัดอัตราลมหายใจออกสูงสุด การสอนวิธีการใช้ยาสูดพ่น และเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย

โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ที่มา: http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000136865

Share

รักษาสมดุลพลังชีวิตกับการออกกำลังกายแบบ “ไทชิ”

เมื่อพูดถึงการออกกำลังกาย ทุกคนจะชอบนึกถึงการออกกำลังที่เรียกเหงื่อ ยิ่งเหงื่อออกมายิ่งเท่ากับว่าเราออกกำลังกายได้มาก ซึ่งก็ไม่จริงเสมอไปนะคะ เพราะมีการออกกำลังกายอีกหลายรูปแบบที่ไม่ต้องเสียเหงื่อแต่ก็มีการเผาพลาญพลังงานที่เหลือกินเหลือใช้ได้เช่นกัน อย่าง การออกกำลังกายแบบไทชิ นั่นเองค่ะ

ไทชิ เป็นการออกกำลังกายอย่างนุ่มนวล และเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของมวยจีน ที่เน้นการการผ่อนคลายและการกำหนดลมหายใจเข้าลึก-ออกยาว มากกว่าการเคลื่อนไหวร่างกายภายนอกที่เน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างเดียวเท่านั้น เพราะการออกกำลังแบบไทชิ จะเริ่มต้นการปฏิบัติตนด้วยการควบคุมจิตใจ ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้เกิดสมาธิที่ยาวขึ้น ส่งผลให้เกิดพลังในร่างกาย ที่แปรเปลี่ยนไปช่วยอวัยวะต่างๆ ให้ไม่เสื่อมเร็วและแข็งแรง ยามที่คุณเริ่มมีอายุย่างเข้าสู่วัยชรา

การออกกำลังกายในลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ นี้ จะทำให้การหมุนเวียนของโลหิตและการหายใจเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณเส้นเลือดฝอย และมีส่าวนช่วยในการเติมออกซิเจนที่เซลหัวใจ หัวใจก็ทำงานได้ปกติ ไม่เกิดอาการตีบตันหรือหัวใจวาย

การกำหนดการหายใจให้เข้าลึกออกยาว ผ่านมาจากทางจมูก ซึ่งการทำลักษณะนี้จะเป็นการบริหารกระบังลม ที่ให้ผลเหมือนเป็นการนวดตับ ช่วยขับเลือดออกจากตับและช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น ปอดและหัวใจก็พลอยแข็งแรงไปด้วย มีความกระชุ่มกระชวยมากขึ้น ความสุขก็บังเกิดขึ้น และช่วยลดความดันโลหิตได้ อายุก็ยืนยาวแบบสุขภาพดีค่ะ

ท่าทางและสรีระในการออกกำลังกาย “ไทชิ” ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสมดุลของร่างกาย อย่าง ปากปิดสนิท เพื่อบังคับให้หายใจทางจมูก ลิ้นก็จะแตะเพดานปาก จะทำให้ต่อมน้ำลายหลั่งต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความชุ่มคอและสามารถช่วยย่อยอาหารได้ ส่วนของลูกตา ก็ไม่ต้องฝืนเกร็ง จ้องมองบางสิ่งนานๆ กล้ามเนื้อลูกตาก็จะได้รับการพักผ่อน

ส่วนไหล่ก็จะอยู่ในท่าลดลงและอกก็จะผ่อน ซึ่งอยู่ในท่าธรรมชาติ จะช่วยกระบังลมดีขึ้น ช่วยให้หายใจลึกถึงท้อง ช่วยการย่อยอาหาร และการขับถ่าย ทั้งยังช่วยให้ไตและลำไส้แข็งแรง อันเนื่องมาการการผ่อนคลายเอวและกล้ามเนื้อเอว ที่มีการบิดไปทางขวา-ซ้ายอย่างช้า แขนวาดออกไปในอากาศอย่างช้าๆ ขาก้าวเดินอย่างมีสติและมีการกำหนดลมหายใจให้เกิดความสมดุล ก็จะเป็นผลดีต่อเส้นเอ็นและกระดูกได้เป็นอย่างดีค่ะ

นอกจากนี้ยังเป็นการผ่อนคลายภาวะทางอารมณ์ ให้คุณรู้สึกผ่อนคลายความเครียด ความกังวลที่เกิดในจิตใจ หรือความรู้สึกในแง่ลบต่างๆ จะแปรเปลี่ยนมาเป็นพลังความสุขเล็กๆ ได้ค่ะ ทั้งยังสามารถผ่อนคลายความเมื่อยล้าทางร่างกายได้ อาทิ คลายปวดเหมื่อย เพราะร่างกายไม่หักโหมสำหรับการออกกำลังกายเกินไป และเมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหวแบบเบาๆ จิตใจก็จะเบาตามภาวะทางร่างกาย จึงเกิดพลังแห่งความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ความสมดุลนี้ได้แปรเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงหรือฝืนธรรมชาติมากเกินไป ก็อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่ายเช่นกันค่ะ

อาจเรียกได้ว่า ไทชิ เป็นการออกกำลังกาย ซึ่งเหมาะกับคนอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถมีสุขภาพดีด้วยการออกกำลังกายได้เช่นกัน ซึ่งก็ต้องดูความเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของตัวคุณเองว่า เหมาะกับการออกกำลังกายแบบไหนด้วยนะคะ และที่สำคัญหลังการออกกำลังกายควรทิ้งเวลาไว้ 1 ชั่วโมงจึงจะสามารถดื่มหรือรับประทานอาหารได้ ซึ่งอาจเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มเบาๆ แต่มากคุณค่าอย่างเครื่องดื่มธัญพืชที่รวมคุณค่าธัญหาร 5 ประการไว้ด้วยกันก็ดีนะคะ

Tip
สถานที่ซึ่งเหมาะกับการออกกำลังกายแบบไทชิคือ สวนสาธารณะที่มีต้นไม้ให้ความร่มรื่น ออกซิเจนที่ได้ก็จะบริสุทธิ์ หรือบ้านที่มีเนื้อที่กว้าง ปลอดโปร่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก และออกกำลังกายช่วงเช้าจะเกิดผลดีที่สุดค่ะ

เรื่อง ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ
จาก Ovaltine 5 Grains

Share