ธรรมะอินดี้..แบบ “ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า”

หลายคนคงรู้จักวง “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” ที่อาจชื่อแปลกแต่สำหรับคอดนตรีอิสระ วงนี้อยู่ในใจไม่น้อย และมีเพลงที่เขาเคยแต่งและร้องกันไว้ อย่าง “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” จนนำมาประกอบในหนัง “สายลับจับบ้านเล็ก” โด่งดังเป็นพลุแตกมาแล้วจากเสียงร้องของ “ดา เอ็นโดรฟิน” และ “ป๊อบ แคลอรี่ บลาบลา” แต่ผู้ที่เป็นนักร้องนำแห่งวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า คือ “ตุล ไวฑูรเกียรติ” ที่เพิ่งมีหนังเรื่องแรกในชีวิตอย่าง “อยากได้ยินว่ารักกัน” และวันนี้เราจับหนุ่มคิดอิสระคนนี้มาพุดคุยเรื่องธรรมะ ซึ่งบทสรุปที่ได้ คือทุกครั้งที่เกิดทุกข์ เขาใช้ปลายปากการะบายออกมาเป้นเสียงเพลง นั่นเอง

เนื้อหาเพลงถูกอกถูกใจคนฟังเพลงแนวอินดี้ไม่น้อย กวาดมาทุกเวที แต่สำหรับเวที “ธรรม” ตุล ออกตัวว่าไม่ใช่คนธรรมะธัมโม นุ่งขาวห่มขาว หากแต่เมื่อมีกิเลสขึ้นมา เขาดับกิเลสนั้นด้วย “ดนตรี”

“ผมไม่ใช่คนนั่งสมาธินะ จริงๆแล้วการแต่งเพลง การทำดนตรี เราต้องมีกิเลสเยอะ มันค่อนข้างตรงกันข้ามกับธรรมะเลย ธรรมะทำให้ใจเราสงบใช่มั้ยครับ แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามันคือช่วงที่จิตผมป่วน เกิดกิเลส เศร้า โกรธ เครียด จุดประกายให้เกิดดนตรีได้ ถ้าผมสงบดี คิดไม่ออก จะไม่ทำเพลง ผมว่าเพลงมันคือเครื่องปลดทุกข์ครับ เวลาสุขผมก็ค่อนข้างสงบจะนั่งเฉยๆอ่านหนังสืออะไรไป ใช้ชีวิตอย่างอื่นแทน”… ตุลเอ่ยถึงการบำบัดทุกข์ด้วยการแต่งเพลงของเขาแบบที่เราไม่เคยรู้

สำหรับการทำบุญของเขานั้น หนุ่มตุลบอกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นประจำคืออุปการะเด็กจากมูลนิธิยูนิเซฟ และใช้ดนตรีช่วยในจุดที่คนดนตรีอย่างเขาพอจะช่วยได้

“ผมช่วยได้เท่าที่ผมไหว เช่นอุปการะเด็กผ่านมูลนิธิที่เราสนใจและโอเค ให้เขาทุกเดือนให้เรียน ส่งเขาเรียนไปเรื่อยๆ ที่ยูนิเซฟทำทุกเดือน เขาตัดจากบัตรเครดิตไป โครงการศุภนิมิต เขาจะส่งรูปเด็กมาให้เราดูว่าเด็กคนนี้ชื่ออะไร อุปการะตามที่เราพอไหวครับ แต่พวกทำสังฆทาน ก็ไปทำครับไม่มีปัญหา แต่ติดตื่นสายครับ ไม่ทันพระ แสดงออกดว้ยทางอื่นจะเยอะกว่า”

“ผมทำบุญ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ครับ อะไรที่เราช่วยได้เราก็ทำ บางทีเราเป็นนักดนตรี เราก็ช่วยองค์กรต่างๆ เราทำในส่วนที่เรามีเรี่ยวแรงดีกว่าครับ เป็นสิ่งที่เราทำได้ครับ ผมไม่ใช่ทางนุ่งขาวหุ่มขาวครับ เพราะผมเป็นคนอยู่เฉยไม่ได้”

สำหรับเขาแล้ว เขาบอกว่าไม่ได้เน้นหนักหรือเคร่งครัดในศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของการทำดีศาสนาทุกศาสนาย่อมสอนให้คนเป็นคนดี

“บ้านผมพุทธนะ แต่จริงๆผมไม่มีศาสนานะครับ ผมเป็นอะไรก็ได้ ใครพาผมไปไหนก็ไปได้ครับ ใครพาไปโบสถ์คริสต์ก็ไปได้ มีเพื่อนเป็นอิสลามก็ทำประเพณีเขาผมก็ไปได้หมด”

“ผมคิดว่าอย่างผมใช้ปรัชญาบางอย่างได้ แต่เราก็มีความสุขที่เรากินเหล้าใช่มั้ย เราจะพูดว่าเราเป็นพุทธศาสนิกชนได้ไม่เต็มปากหรอก เพราะว่าเราเองก็กินเหล้าอยู่ พระสวดว่าสุราเมรัยยะ แต่เราก็กินสุราเป็นระยะๆ เราเอามาใช้ได้ มันอยู่ที่เราหยิบมา เราคนของโลกทุกศาสนาจึงมีข้อดี เลือกอันเดียวก็ไม่ยึดในกฏ เราก็เลือกเอาครับ”

แต่ตุลบอกว่าสำหรับวิถีพุทธแล้ว สิ่งที่เขาคิดว่า “จริง” และ “ใช่” ที่สุดคือ ต้องการน้อยก็คือทุกข์น้อยนั่นเอง

“วิถีพุทธคือวิถีง่ายนะ คือถ้าเราต้องการน้อย เราก็ทุกข์น้อย คือมันเป็นวิถีง่ายๆกิเลสเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ การแต่งเพลงก็ดีนะ เราจะเห็นกิเลสตัวเอง เพลงเศร้าเราก็เห็นกิเลสคือความเศร้า มันไม่จีรัง มันเขียนลงระบายกระดาษ โกรธระบายก็จะเห็นตัวกิเลสเรานี่แหละ คนเรามันมีกิเลสทั้งนั้น มันอยู่ที่ว่าเอาไปลงตรงไหน ผมว่าคนที่เขียนเพลง เขียนหนังสือได้ โชคดีครับเหมือนมีบริษัทประกันมาจ่ายให้ว่าเราได้เพลง”

ชีวิตไม่สิ้นหวังแบบ “ตุล”

“เราต้องอยู่อย่างมีหวัง โลกซ่อมตัวเองได้ ทุกอย่างมันซ่อมตัวเองได้ ชีวิตคนเรามันมีปัญหากันทุกคนนะครับ อินได้แต่อินให้ถูกเวลา ถ้าคุณอิน 24 ชั่วโมงก็ไม่ไหวครับ นักการเมืองเขาเล่นการเมืองเองเขายังไม่อินทุกวันเลยครับ เหมือนนักดนตรีก็ไม่ได้อินกับดนตรีทุก 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นคนปกติธรรมดาก็อย่าไปอินกับอะไรมาก คิดได้แต่รู้เท่าทัน ว่ามันคือข้อมูล”

“ธมฺมปีติ สุขํ เสติ” ผู้อิ่มใจในธรรม ย่อมนอนเป็นสุข…หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

ข่าวโดย ทีมงาน M-Lite
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

Share

พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

“พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”
Buddhajanyanti : The Celebration of 2,600 Years
of the Buddha’s Enlighthenment

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วม “ปฏิบัติบูชาครั้งประวัติศาสตร์ สวดมนต์ข้าม ๒๖ ศตวรรษ” ด้วยการร่วมสวดพุทธคุณ ๒,๖๐๐ จบ โดยมี “พระพุทธชยันตีองค์ดำ นาลันทา” (พระผู้เป็นเลิศแห่งการเยียวยา) เป็นประธาน เพื่อเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พร้อมกับพุทธศาสนิกชนจาก ๕ ทวีป ๑๕ ประเทศทั่วโลก

ผ่านการถ่ายทอดสดจากท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ

และอีก ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศไทย ณ สถานที่ที่แต่ละจังหวัดจัดไว้ ในค่ำคืนวันวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ วันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ น. เป็นต้นไป อย่างพร้อมเพรียงกัน

Continue reading

Share

อายุยืน 100 ปี ตามแบบฉบับเคล็ดลับชาวญี่ปุ่น

หยิบเครื่องเทศ สมุนไพรมาใส่อาหารบำรุงให้อายุยืน 100 ปี (สุขกายสบายใจ)
เรื่อง : สุธารัชฎ์ รัตนารามิก

การจะมีชีวิตอยู่ให้ถึงอายุ 100 ปีคงไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งสำคัญต้องมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง หากยังไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นดูแลตัวเองอย่างไร ลองดูพฤติกรรมของชาวโอกินาว่าในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอายุยืนที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก พวกเขามีเคล็ดลับอยู่ที่การเพิ่มเครื่องเทศและสมุนไพรในอาหาร และให้ความสำคัญกับการออกกำลังทั้งกายและใจ ซึ่งวิธีเหล่านี้เราก็สามารถปฏิบัติตามได้ครบทุกขั้นตอน ไม่เพียงเท่านี้ยังเสริมด้วยเรื่องของเกร็ดสุขภาพทั้งกายใจ ที่ทำง่ายในทุกวันอีกด้วย

กินดี อยู่ดี มีความสุข…ตามแบบฉบับชาวโอกินาว่า

ชาวโอกินาว่ามีชีวิตประจำวันที่เหมือนกับชาวชนบททั่วไปคือ เน้นกินผักเป็นหลัก กินเนื้อเป็นรอง แทบทุกเมนูต้องใส่เครื่องเทศ และสมุนไพร ในเรื่องสุขภาพใจ พวกเขาขึ้นชื่อเรื่องคิดบวก เพราะเชื่อว่าการมีทัศนคติที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการมีอายุยืน ที่สำคัญคือ พวกเขาเก่งมวยไท้เก็ก ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบเน้นเรื่องการฝึกลมหายใจและทำสมาธิ ด้วยวิธีการเหล่านี้เองที่ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี จนสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 100 ปี

8 อาหารสำคัญของชาวโอกินาว่า

1.มะระ นิยมนำมาปรุงอาหารขณะที่ยังไม่สุกงอมดี โดยการนำมาผัดกับเต้าหู้ ใส่ไข่ แล้วผัดด้วยน้ำมันคาโนลา หรือฝานบาง ๆ ใส่ในแซนด์วิช หรือใช้เป็นผักเคียงในเมนูซูซิ

2.แครอท ชาวโอกินาว่าไม่นิยมทานหัวแครอทเหมือนบ้านเรา แต่จะใช้ใบสีเขียวของแครอทมาประกอบอาหารโดยการนำใบมาสับละเอียด ตอกไข่ใส่ แล้วผัดกับข้าวกล้องหรือนำไปเป็นผักโรยในซุป

3.Hechima หรือบวบญี่ปุ่น นิยมนำไปเป็นผักเครื่องเคียง กินกับเต้าหู้ในซุปมีโสะ

4.สมุนไพรเผ็ดร้อน ซึ่งเชื่อว่ามีคุณสมบัติรักษาโรค เช่น ขมิ้น ช่วยป้องกันการติดเชื้อ พริกช่วยบำรุงหัวใจ เมล็ดยี่หร่าช่วยอาหารโดยนำมาปรุงเป็นส่วนประกอบในเมนูบะหมี่สูตรน้ำซุป หรือใส่ลงในมนูผัดผัก

5.สาหร่าย นิยมนำมาใช้ปรุงอาหารมากกว่าผักชนิดอื่นเพราะหาง่าย เช่น คอมบุ โนริ ฮิจิกิ วากาเมะ เป็นต้น โดยการนำไปแปรรูปเป็นสาหร่ายแผ่นทอดกรอบ อบแห้ง ใส่ในซุป หรือนำไปห่อข้าว

6.มันเทศ นิยมนำไปทำเป็นมันทอด โดยหั่นเป็นชิ้นหนา 1 นิ้ว นำไปทอดด้วยน้ำมันมะกอก หรือ หรือใช้มันเทศทั้งหัวไปเผาสุมในกองใบไม้แห้ง ไว้กินเล่นในฤดูหนาว

7.โฮลเกรน ชาวโอกินาว่าเชื่อว่าการบริโภคธัญพืช เช่น ข้าวบาเล่ย์ ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง สามารถเติมพลังให้กับจิตวิญญาณได้ จึงนิยมนำไปหุงผสมชนิดกันเพื่อทำเป็นข้าวพิลาฟ (Pilaf) หรือข้าวที่หุงรวมกับสมุนไพร ธัญพืช หรือเครื่องเทศ

8.ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ มิโสะ และถั่วแระนิยมนำถั่วแระผัดในข้าว หรือใช้มิโสะเป็นซูป และอีกเมนูนิยมของชาวโอกินาว่าก็คือ การใช้เต้าหู้ทำชีสเค้ก

อายุยืนด้วย 5 สมุนไพรหาง่ายในครัวบ้านเรา

1.กระเทียม ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ตามผลวิจัยของ National Health and Medical Research Council เผยว่า การบริโภคกระเทียม แค่ 1 หัวต่อวันช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เพราะสารประกอบไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulphide) ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้เป็นปกติ

2.ขมิ้น บำรุงข้อต่อ ด้วยสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ที่มีคุณสมบัติต้านแอมีลอยด์ (amyloid) หรือคราบพลัคโปรตีน ไม่ให้ตกตะกอนในเซลล์เนื้อเยื่อจนเรื้อรังอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ข้อต่อ สมอง ดังนั้นการกินขมิ้นวันละ 1 เหง้า ก็สามารถช่วยให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ และโรคไขข้ออักเสบได้แล้ว

3.ใบเสจ บำรุงสมอง ด้วยสารอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ที่มีผลต่อการควบคุมสมองในส่วนการรับรู้ ซึ่งทำงานสัมพันธ์โดยตงกับระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympathetic nerve) หรือระบบประสาทอัตโนมัติ หากกินเสจเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้สมองหลั่งสารอซีติลโคลีนเป็นปกติ สมองจึงสามารถจำอะไรได้แม่นยำขึ้น อาจตวงใบเสจ 1 ¼ ออนซ์ แช่ลงในน้ำร้อน 1 ถ้วยตวง ใช้จิบเป็นชาดื่มตลอดวัน

4.ใบไทม์ (Thyme) บำรุงไต เป็นสมุนไพรรสชาติเย็นคล้ายใบมินท์ มีคุณสมบัติช่วยทำความสะอาดไต และระบบทางเดินปัสสาวะ นิยมนำไปใช้ชงเป็นชาใบไทม์ โดยตวงใบไทม์ ½ ออนซ์ (หรือ 1 ช้อนโต๊ะ) ต้มในน้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง ทิ้งให้ตกตะกอนประมาณ 15 นาที อาจเพิ่มความหวานโดยการเติมน้ำผึ้ง ใช้จิบได้ตลอดวัน ควรดื่มอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ถ้วย

5.ผักชีสด ขับโลหะหนัก ในหนังสือที่มีชื่อว่า Transdermal Magnesium Therapy ที่เขียนโดย Mark Sircus เขาแนะนำว่า กินใบผักชีสดเพียง 1 กำมือเป็นประจำทุกวัน ก็ช่วยให้ร่างกายกระตุ้นการขับปรอทออกจากเซลล์สมองและระบบประสาทส่วนกลางได้แล้ว เพราะถ้าร่างกายมีปรอทสะสมอยู่ในปริมาณมากจะส่งผลให้ปอดอักเสบ หายใจไม่สะดวก และร้ายแรงจนถึงขั้นสูญเสียการควบคุมการทรงตัว และการเคลื่อนไหวของแขน ขา ระบบประสาทรับความรู้สึกถูกทำลาย เช่น การได้ยินไม่ชัด มองไม่ชัด พูดไม่ชัด เป็นต้น

6 วิธีสุขใจให้อายุยืน

1.หัวเราะ นักหทัยวิทยาในสหรัฐเผยว่า การหัวเราะ 100-200 ครั้ง เทียบได้กับการเดินเร็ว 10 นาที และเป็นวิธีธรรมชาติช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคมากขึ้น

2.ชีวิตคู่ ต้องจัดการให้ลงตัว ผลการวิจัยของ Health Psychology Journal ในสหรัฐเผยว่า คู่ชายหญิงที่หย่าร้างกัน มีอายุขัยสั้นกว่ากำหนด เพราะชีวิตตึงเครียดด้วยปัญหาที่ต้องคิด ในทางกลับกัน คู่ชายหญิงที่มีกิจกรรมบนเตียงบ่อยครั้งมีอายุยืนกว่า เพราะการมีเซ็กส์อย่างสม่ำเสมอช่วยคืนอายุให้ดูเด็กลงถึง 7 ปี

3.ธรรมะ ธรรมโมเข้าไว้ ผลการวิจัยของ International Journal for Psychiatry and Medicine เผยว่าความเครียด และอารมณ์ขุ่นมัวคือ ต้นเหตุให้เจ็บป่วย และร่างกายสามารถขจัดมันออกไปได้ด้วยพลังของจิตใจที่สงบ ซึ่งเราสามารถฝึกจิตให้แข็งแรงได้ด้วย การเข้าโบสถ์ เข้าวัดฟังธรรม และการทำบุญ

4.เข้าสมาคม การเข้าร่วมสมาคมกีฬา หรือการเข้าสมาคมในองค์กรช่วยเหลือต่าง ๆ นับเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้สูงอายุ ผลการวิจัยของ Harvard University เผยว่า วิธีเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกตัวเองมีค่า และรู้สึกสนุกกับการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายมากขึ้น

5.อยู่บ้าน ไม่ต้องพูดถึง “งาน” ผลการวิจัยของ Johns Hopkins University เผยว่า ผู้ที่ชอบเก็บงานกลับไปทำที่บ้าน เสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ง่ายกว่า 20 เท่าของผู้ที่ไม่เก็บงานกลับไปทำที่บ้าน เนื่องจากเป็นการสะสมความเครียดให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว ภูมิคุ้มกันในร่างกายจึงลดต่ำลงเรื่อย ๆ ผลที่ได้คือ แก่ก่อนวัยอันควร

6.เลี้ยงสัตว์ ผลการวิจัยของ University of Cambridge เผยว่า สัตว์เลี้ยงทำให้คนมองโลกในแง่ดี และมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย คอรบครัวที่เลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสุนัข หรือแมวจะมีความเครียดน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่เลี้ยงสัตว์อะไรเลย อีกทั้งยังมีอัตราการเจ็บป่วยจนต้องไปพบแพทย์น้อยครั้งกว่าด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สุขกายสบายใจ
ที่มา http://health.kapook.com/view38185.html

Share