เมื่อนักเรียนไทย เรียนเยอะๆ แต่ยิ่งฉลาดน้อยลง

‘เด็กฉลาดต้อง เรียนเยอะๆ เรียนจบไปจะได้ทำงานดีๆ เป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นสถาปนิก’

เหล่านี้คือค่านิยมแบบเดิมๆ ที่ยึดติดและเชื่อถือมาตั้งแต่ครั้งสมัยบรรพบุรุษแล้ว แม้ว่าทุกวันนี้โลกของเราจะก้าวไปสู่ยุค 3 จี 4 จี หรืออินเทอร์เน็ต วายฟาย แต่หาได้ทำลายความเชื่อโบราณนี้ลงได้แม้แต่น้อย

สัมผัสได้ทุกวันนี้ ที่เด็กๆ ยังคงจะเรียนหนังสือหนักเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่เชื่อลองคำนวณดูก็ได้ วันหนึ่งเรียนตั้งแต่ 9 โมงเช้า มาเลิก 4 โมงเย็น แถมเช้าๆ ยังต้องมาเข้าแถวเคารพธงชาติให้ทัน 8 โมงเช้า เมื่อหักเวลารับประทานอาหารเรียบร้อย สรุปวันหนึ่งก็ใช้ชีวิตอยู่ห้องเรียนไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง

และเมื่อคูณเวลาทำการไปอีก 5 วัน สรุปแล้ว เด็กไทยก็ไม่น่าจะใช้เวลาเรียนต่ำกว่า 30 ชั่วโมง (หรือบางโรงเรียนอาจจะน้อยกว่าเล็กน้อย เพราะเด็กผู้ชายต้องไปเรียนรักษาดินแดน)

ไม่หมดเพียงแค่นั้น พอหมดจากโรงเรียน ก็อย่าเพิ่งคิดว่าเด็กจะรอดไปได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคของการแข่งขัน ทำให้เด็กไทยจำนวนมาก ทุ่มตัวกับการเรียนพิเศษในโรงเรียนกวดวิชา เล่นเอาหน้าดำคร่ำเครียดไปตามๆ กัน

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เอง ก็ไปกระตุ้นใจของใครๆ หลายคน อย่าง ยุทธชัย เฉลิมชัย ที่ปรึกษาสมาคมบ้านเรียนไทย ซึ่งออกมาตั้งคำถามตัวโตๆ ไปยังกระทรวงศึกษาธิการว่ารีบไปทำวิจัยได้แล้วว่า สรุปเด็กไทยนั้นเรียนเยอะเกินไปหรือเปล่า และดีไม่ดีอาจจะเรียนมากที่สุดในโลกด้วยซ้ำ เพราะขนาดประเทศจีนซึ่งว่ากันว่า เข้มงวดแบบสุดๆ กวดขันแบบมากๆ ยังมีช่วงเวลาพัก ช่วงเวลาทำกิจกรรมมากกว่าเด็กไทยเลย

“ผมไม่รู้หรอกนะว่า เมืองไทยเราเรียนเยอะกว่าเมืองนอกหรือเปล่า แต่เท่าที่เห็นเราเรียนเยอะจริงๆ ตั้งแต่เช้ายันเย็น และตอนที่ผมไปประเทศจีน เด็กที่นั่นเขาก็ตึงเครียดกับเรื่องเรียนเหมือนกัน เวลาสอบก็อ่านหนังสือหนักเหมือนกัน แต่เวลาเรียนของเขาน้อยกว่ามาก อย่างช่วงพัก 11 โมงครึ่งถึงบ่าย 2 โมงครึ่ง เขาก็ให้เด็กกลับบ้าน พอช่วงบ่ายกลับมาก็เน้นเรื่องทางดนตรี ศิลปะเป็นหลัก”

แต่ถึงจะไม่มีงานวิจัยออกมาอย่างชัดแจ้ง หรือมีการเปรียบเทียบโมเดลการศึกษาของเมืองไทยกับเมืองนอกออกมาอย่างแดงแจ๋ แต่เชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนคงจะรู้สึกคันๆ กับประเด็นนี้ไม่มากก็น้อย เพราะต่างก็มีประสบการณ์มาแล้วอย่างถ้วนหน้า

เด็ก ไทย เรียนเยอะไปหรือเปล่า?
ความจริงที่ว่า ทุกวันนี้เด็กไทยเรียนเยอะ เรียนน้อย คงจะพิสูจน์ได้ลำบาก เพราะของแบบนี้ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกล้วนๆ ดังนั้นคนที่จะให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นผู้ที่กำลังเผชิญชะตากรรมของระบบการศึกษาไทยอยู่นั่นเอง อย่างสาวน้อยจากสงขลา อัญ ชิสา เจริญแสงเพชร ชั้น ม.6 ซึ่งออกมาเปิดอกแบบไม่กลัวใครว่า ไม่ค่อยชอบการเรียนในห้องสักเท่าไหร่ เพราะต้องเรียนอะไรก็ไม่รู้เยอะมาก อย่างสัปดาห์หนึ่งเธอต้องโหมเรียนเรียนหนักมากถึง 40 ชั่วโมง คิดง่ายๆ ก็คือ 1 ใน 4 ของชีวิตทั้งหมด
แถมการเรียนโดยภาพรวมก็ไม่มีความเป็นระบบเลยสักนิด เน้นแต่การท่องจำอย่างเดียว ส่วนการปฏิบัติหรือการเรียนรู้จริงแทบไม่มีให้เสร็จ สร้างความเหน็ดเหนื่อย และเบื่อหน่ายให้แก่ตัวเองอย่างที่สุด
“หลายๆ วิชาเบื่อมาก จนไม่อยากเรียน คิดแต่ว่าเมื่อไหร่จะหมดชั่วโมง (หัวเราะ) ยิ่งเมื่อมีรายงานต้องทำ นักเรียนก็ได้แต่หาจากในอินเทอร์เน็ตและก๊อบปี้มาสรุปทำรายงาน และออกไปยืนอ่านหน้าห้อง แล้วแบบนี้นักเรียนจะมีผลงานไปใช้ประกอบในการเรียนที่สูงกว่าได้อย่างไร”

อีกคนที่ไม่มีสภาพไม่แตกต่างกัน คณิต ชูทอง นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ซึ่งวันหนึ่งต้องเรียนมาถึง 10 คาบ สรุปแล้วอาทิตย์หนึ่งก็เรียนมากถึง 45 คาบเลยทีเดียว แต่ทว่า สำหรับเขามันกลายเป็นเรื่องปกติจนชินชาไปซะแล้ว เพราะเจอแบบนี้ตั้งแต่เรียน ม.1

“ไม่ใช่เราไม่เบื่อนะ ก็มีการเบื่อมีบ่น เกิดอาการความรู้สึกที่ไม่อยากเรียนบ้าง อย่างวันหนึ่งผมเรียน 10 คาบ คาบละ 50 นาทีก็เหนื่อยนะ บางวันก็ท้อคิดว่าไม่รู้จะเรียนเยอะไปทำไม อย่างบางวิชาก็ไม่น่าเรียน อาจารย์ก็เข้มงวดสอนไม่ค่อยรู้เรื่องให้กางตำราเรียนและมีแต่ท่องจำ บางวิชาอาจารย์ที่สอนควรเข้าใจเด็กว่า วัยอย่างพวกเราต้อการอะไร คือ ถ้าไม่เน้นวิชาการมากเกินไปจะเน้นปฏิบัติให้เราทำกันจริงๆ เมื่อมีปัญหาอะไรก็สามารถแก้ไข”

เมื่อเด็กๆ และเยาวชนของชาติต้องเจอสภาพการเรียนที่แสนจะหนักหน่วงเช่นนี้ คำถามที่ตามมาทันที ก็คือ ใครกันล่ะที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ? แน่นอนงานนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้จัดทำหลักสูตรของโรงเรียนต่างๆ (เว้นแต่โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย และโรงเรียนานาชาติ)

และเมื่อศึกษาหลักสูตรของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็พบความจริงที่ว่า ในแต่ละภาคการเรียน เด็กไทยต้องเรียนหนังสือมากกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี เช่นเด็กในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาเรียนถึง 1,000 ชั่วโมง โดยเรียนภาษาไทย และ คณิตศาสตร์อย่างละ 160 ชั่วโมง วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพฯ ภาษาต่างประเทศ เรียนอย่างละ 80 ชั่วโมง ส่วนวิชาพื้นฐานเรียน 800 ชั่วโมง กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 120 ชั่วโมง และมีรายวิชาเพิ่มเติมอีกไม่เกิน80 ชั่วโมง

จากตัวเลขที่น่าตกใจนี้เอง สุชา ติ วงศ์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความเห็นว่า แม้จะดูเป็นจำนวนที่มาก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะแต่ละสาระความเรียนรู้ก็มีความจำเป็น แถมทุกวันนี้ ผู้ปกครองและครูอาจารย์ยังเรียกร้องให้มีการเพิ่มวิชาเรียนอื่นๆ ที่สอดคล้องกับภาวะสังคมปัจจุบันเข้าไปอีกด้วยซ้ำ

โดยจุดบกพร่องจริงๆ น่าจะอยู่ที่การบริหารและการออกแบบการสอนของโรงเรียนแต่ละแห่งมากกว่า ว่าเป็นอย่างไร และสามารถบูรณาการได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าจะพูดกันตามจริงแล้ว การจัดตารางเรียนสามารถทำได้ทั้งในหรือนอกห้องเรียน อย่างวิชาที่เป็นทฤษฎีอาจจะเรียนในห้องหรือเรียนหลายรูปแบบรวมกันก็ได้ เช่น ภาษาไทยบูรณาการเข้ากับสังคมและวาดเขียนก็ไปด้วยกันได้ แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนนิยมความสะดวกสบายจัดครูมาสอนแต่ละวิชาในห้องเรียน

“โรงเรียนมีหน้าที่จัดการ เรียนการสอน เมื่อโรงเรียนออกแบบตารางสอน ก็อาจจะออกมาในรูปแบบจัดให้เด็กนั่งเรียนในห้อง 5 ชั่วโมงก็ให้เรียนในห้องหมดเลย ต้องเรียนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์วันไหน เมื่อโรงเรียนทั่วไปขี้เกียจแบบนี้ การจัดกิจกรรมให้เด็กก็ให้นั่งเรียนในห้องจึงเป็นทางเลือกที่ถูกเอามาใช้มาก ที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือจัดครูไปสอน พอหมดชั่วโมงก็ออก ครูวิชาต่อไปเข้าสอน
“สุดท้ายนักเรียนเลยมีแต่ เวลาที่นั่งเรียนในห้อง และไม่มีเวลาให้ทำอะไรเลย ซึ่งในส่วนโครงสร้างหลักสูตรเรามีเวลาให้เด็กไปปฏิบัติกิจกรรม หรือให้ไปทำอะไรเยอะแยะกว่าการนั่งเรียนในห้อง”

เข้า เรียนก็เหมือนเข้าออฟฟิศ
ผลย่อมเกิดจากเหตุ เป็นสัจธรรมของโลกมนุษย์ ที่ทุกคนรับรู้ ปัญหาการศึกษาก็เช่นเดียวกัน โดยปัจจัยหลักๆ น่าจะมาจากค่านิยมของการศึกษาไทยที่ยึดติดมานมนามมากแล้ว

ดร.ชรินทร์ มั่งคั่ง จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชี้ให้เห็นว่า การปลูกฝังหลายๆ อย่างของการศึกษามุ่งแต่การให้ความรู้มากที่สุดเพียงอย่างเดียว ขณะที่ทักษะ หรือการนำไปประยุกต์ใช้แทบไม่เกิดขึ้นเลย ประกอบการเรียนที่ดูเหมือนเป็นการบังคับ ทำให้ไม่สามารถมีพลังดึงดูดนักเรียนให้อยากเข้าร่วมกิจกรรมได้เท่าที่ควร

“ทุกวันนี้ผมมองว่าเด็กเข้า โรงเรียนมาเพื่อที่จะรับรู้เท่านั้น แต่ไม่ได้เข้ามาเพื่อจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ เหมือนมาเข้าออฟฟิศ ตามสเต็ปของการทำงาน ไม่ได้เข้ามาเพื่อคิดใหม่ หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว จริงๆ หน้าที่ของโรงเรียนควรจะให้มโนทัศน์แก่เด็กในห้องเรียน ก็เพื่อที่เขาจะแสวงหา หรือใฝ่รู้ตลอดชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับเด็กไทยเลย”

ตอกย้ำความคิดด้วยคำพูดของภาวิณีที่บอกว่า การเรียนในห้องเรียน ส่วนใหญ่ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อมากๆ และไม่ชักจูงอารมณ์ให้เกิดความอยากเรียนแม้แต่น้อย
“ครูที่สอนทุกวันนี้ไม่ได้มี วิธีที่แตกต่างไปจากเดิมเลย สอนแต่วิธีเดิมๆ ไม่ได้มีการหาเรื่องหรือแนวทางใหม่ๆ มาใช้เลย ทุกวันนี้ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าเรียนแบบนี้ สุดท้ายนักเรียนจะได้อะไร”

อีกโจทย์หนึ่งที่ถือว่าท้าทายนักการศึกษามากๆ ก็คือการที่ไม่สามารถขยับตัวออกจากวังวนเดิมๆ ของตัวเอง โดยยุทธชัยได้ยกตัวอย่าง ทัศนคติของครูไทยในปัจจุบันที่มองว่า การเรียนต้องอยู่ในห้องเท่านั้น หรือต้องมีการเช็กชื่อ ใครขาดเรียนเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ไม่มีสิทธิ์ ความคิดเหล่านี้ยังคงอบอวลอยู่ในสังคมไทยเต็มไปหมด

และแม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากนักปฏิรูปการศึกษาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ หรือทำให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ที่มุ่งหวังจะเกิดกระบวนการเรียนรู้และกระบวนกลุ่มให้ยั่งยืน
แต่จากการศึกษาของ ดร.ชรินทร์ที่เข้าไปสำรวจตามโรงเรียนต่างๆ ก็พบว่าการปฏิบัติจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพอเด็กทุกคนออกจากห้องเรียน ก็ยังคงความเป็นปัจเจกชนเหมือนเดิม และเมื่อเข้าไปศึกษากระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทำงานกลุ่มก็พบว่า เป็นการทำงานเฉพาะระดับเปลือกเท่านั้น ไม่ได้มีการลงลึกไปที่เนื้อในอย่างแท้จริง

และอีกจุดหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ทุกวันนี้การศึกษาขั้นพื้นฐานทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ทางผ่านไปสู่การศึกษา ขั้นสูงเท่านั้น ทำให้หลายๆ คนไม่ได้มุ่งที่แสวงหากระบวนการเรียนรู้จากตรงอย่างจริงจังเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ระบบต้องดีมีความสำคัญมากๆ ต่อการสร้างพื้นฐานชีวิตของเยาวชนในอนาคต

“ทุกวันนี้การเรียนรู้ของ เด็กไทยไม่เกิดเลย เป็นเพียงแค่ลีลาเท่านั้นเอง แม้แต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็ตาม ซึ่งแน่นอนเมื่อเขากลายเป็นพลเมืองของชาติในอนาคต ก็จะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งในลักษณะของความเป็นชาติไทยได้ เพราะเขาไม่ได้เรียนรู้ และใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พูดง่ายๆ ก็คือเรียนมากแต่ไม่บรรลุตามหลักสูตร”

แล้วจะออกจากเขาวงกตได้อย่างไร?

เมื่อการเรียนทั้งวัน ไม่เกิดผลดี และการศึกษาไทยยังเต็มไปด้วยปัญหาที่อีกมากมาย การหาทางออกจึงเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ไม่น้อย
แม้ที่ผ่านจะมีการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิรูประบบวิธีเรียน ปฏิรูปหลักสูตร เกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถขจัดเรื่องเดิมออกไปได้แม้แต่น้อย เพราะจุดสำคัญของเรื่องนี้ อยู่ที่บุคคลเป็นหลัก โดยเฉพาะครู โดยนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า หากครูผู้สอนไม่ยอมปฏิรูปตัวเองก่อน ก็คงยากที่จะไปทำอย่างอื่นต่อไปได้ เพราะครูถือเป็นจุดศูนย์กลางของการเรียนการสอนอย่างแท้จริง

“การออกแบบคำถามเพื่อการ เรียนรู้ของครู ถือเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก เพราะมันจะนำไปสู่การเกิดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มากมาย โดยเฉพาะกิจกรรมกลุ่ม ที่เขาได้เรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำ ผู้ตาม เป็นสมาชิกกลุ่ม คุณค่าและบทบาทที่เขาแสดงจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ครูต้องวางแผนเพื่อจะต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ”

ขณะที่ยุทธชัยชี้ว่า ทุกวันนี้ศักยภาพของครูมีจำกัดมาก แถมยังพึ่งตำราและหลักสูตรการสอนมากเกินไป ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การศึกษาจะต้องหมุนให้ทันโลกอยู่เสมอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องการปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ยังจริงจังสักที

“ทุกวันนี้ครูหลายๆ คนสอนตามแบบเรียนประจำวิชา อย่างวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็ก ป.3 ก็มีอยู่แค่ในแบบเรียนเท่านั้น ทั้งที่ความจริงมันเคลื่อนตัวเร็ว และต้องผสมผสานเชื่อมโยงกันต้องเยอะ ไม่ใช่รู้แค่หนังสือทีละเล่ม”

แน่นอน เรื่องนี้หากถามไปยังผู้รับผิดชอบถึงแนวทางการแก้ไข ก็คงได้รับคำตอบว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ
เห็นได้จากโครงการมากมายที่ทำ โดยเฉพาะครูพันธุ์ใหม่ที่กำลังถูกวางเป็นโมเดลใหม่ของการศึกษา ซึ่งผู้ตรวจราชการฯ อธิบายแนวทางการปรับปรุงครูว่า ต้องทำให้ครูสามารถบูรณาการการสอน หรือกำหนดรูปแบบการสอนใหม่ๆ โดยไม่ยัดเยียดตำราแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะต้องมีการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ก็คือการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ไม่ใช่เรียนตามตารางสอน หรือเรื่องที่ครูกำหนดอย่างเดียว โดย ดร.ชรินทร์ ชี้ว่า แม้การเรียนในห้องจะมีความสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธการเรียนรู้นอกห้องไม่ได้ เพราะนั่นคือการเสริมสร้างทักษะชีวิตอย่างแท้จริง

“เรื่องพวกนี้มีการพูดมา ตลอดเลย ผมจำได้ว่ามีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งเคยเสนอด้วยซ้ำว่า ตอนเช้าเราน่าจะเรียนวิชาการ ส่วนบ่ายก็เป็นเรื่องศิลปะไป เด็กจะมีความผ่อนคลาย แต่ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติออกมาสักที” ยุทธชัยช่วยเสริมแนวความคิดและชี้ให้เห็นถึงความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม
……..

ถึงทุกวันนี้ ค่านิยมเรื่องเด็กเก่งต้องเรียนเยอะๆ จะยังถูกปลูกฝังอยู่ภายใต้เซลล์สมองของคนไทยจำนวนมาก แต่เชื่อว่าหลายคนคงยอมรับความจริงที่ว่า คำพูดเช่นนี้อาจจะไม่ได้ผลสำเร็จเสมอไปทุกครั้ง แถมบางครั้งอาจจะนำมาสู่ผลเสียด้วยซ้ำ
แน่นอน เมื่อทางนี้ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ก็คงถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยก็น่าจะปรับตัวและใส่ใจว่า อะไรคือจุดอ่อนของระบบการศึกษากันแน่ และจะขยี้จุดไหนอย่างไร ถึงจะทำให้ปัญหาที่สั่งสมมานานได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปได้จริงๆ
……..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

ที่มา Manager Online

Share

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.