สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว…สิ่งนั้นดีเสมอ

   มีชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของ น.พ.เทอดศักดิ์ เดชคง
ที่ผมชอบมาก “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ”
เป็นหนังสือแนวจิตวิทยาที่สอนคนให้มองโลกในแง่ดีและมีความสุข

ในภาวะที่ “น้ำมันแพง-ดอกเบี้ยสูง-การเมืองสับสน”
ที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นมรสุมระลอกใหญ่ที่ทำให้
เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะกระตุก
ผมนึกถึงชื่อหนังสือของหมอเทอดศักดิ์ขึ้นมาทันที

“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ”
ในวันนี้การสร้าง “กำลังใจ” เพื่อเดินหน้าต่อไปเป็นเรื่องสำคัญมาก
ถ้ามัวคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องเลวร้าย
และเสียเวลากับการตั้งคำถามในทำนองที่ว่า
ถ้าทำอย่างนี้ปัญหาคงไม่เกิด
หรือถ้าทำอย่างนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคงจะดีกว่านี้
หรือเสียเวลากับ อดีต มากกว่า ปัจจุบัน และ อนาคต

แต่หลักคิดที่ว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ”
เป็นหลักคิดเพื่อไม่ให้เราเสียเวลากับการฟื้นฝอยหา
ตะเข็บมากเกินไปเดินหน้าสู่อนาคตดีกว่า

เหมือนที่ อนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
บอกหลักคิดในเรื่องที่ดินกับเพื่อนร่วมงานเสมอ
“ที่ดินแปลงไหนที่เราซื้อแล้วดีเสมอ”
คือ ถ้าซื้อแพงกว่าคู่แข่ง
เราก็ไม่สามารถย้อนหลังกลับไปต่อราคาใหม่ได้
หรือพอซื้อไปแล้ว หน่วยงานรัฐกลับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ
เป็นแบบ “วันเวย์” เราจะเปลี่ยนให้เป็น “ทูเวย์” ก็คงทำไม่ได้

การคิดแบบทำร้ายตัวเองด้วยการบอกตัวเองว่า
“ไม่น่าซื้อที่ดินแปลงนี้เลย” คิดแบบนี้ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
สู้คิดแบบมองไปข้างหน้า ทำให้ที่ดินแปลงนี้
ให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด
ทำให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่

“เงื่อนไข” หรือ “ปัจจัย”
บางอย่างเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
อย่างเช่น ราคาน้ำมัน หรือ อัตราดอกเบี้ย
ของแบงก์ที่เราไปกำหนดอะไรไม่ได้เลย

เวลาที่เอาไปคิดว่า
ทำไมน้ำมันถึงขึ้นราคา
ทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันลดลง
สู้นำเวลานั้นไปคิดว่าทำ
อย่างไรให้ต้นทุนการขนส่งเราเพิ่มขึ้นให้น้อยที่สุด
หรือคิดในเกม “ลดต้นทุน” ไม่ได้ก็ต้องคิดในเกม
“เพิ่มรายได้” ทำอย่างไรจะเพิ่มรายได้ให้มากกว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

ในการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็น
เกมชีวิต หรือ เกมเศรษฐกิจ
“ขวัญ” และ “กำลังใจ”
เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เคยได้ยินหลัก “6 ไม่” ของ
คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ของ
“ไอซีซี” ในเครือสหพัฒน์ไหมครับ
“ไม่เหนื่อย ไม่กลัว ไม่ท้อ ไม่มีปัญหา ไม่ยาก ไม่เครียด”

หลัก “6 ไม่” เกิดขึ้นตอนวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
ตอนนั้นมีแต่ข่าวร้าย เต็มบ้านเต็มเมือง
คุณบุญเกียรติ จึงใช้การ “สั่งจิตใต้สำนึก”
ด้วยหลัก “6 ไม่” บอกตัวเองเป็นประจำ
บอกลูกน้องตลอดเวลาให้คิดทุกเรื่องในทางบวก

งานหนักก็ไม่เหนื่อย
งานยากก็ไม่กลัวและไม่ท้อ
งานมีอุปสรรคมากมาย
ก็คิดว่าไม่มีปัญหา ไม่ยาก
ที่สำคัญ คือ ต้องไม่เครียด

เรื่องนี้สำคัญนะครับ
ผมเชื่อเสมอว่า
เราคือสิ่งแวดล้อมของคนอื่น

ใครก็ตามที่มีนิสัย
“ขี้วีน” หรือ “หน้าตาบอกบุญไม่รับ”
และคิดเสมอว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา
ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น คนนั้นคิดผิด
เพราะรังสีอำมหิตของเรา
จะแผ่กระจายให้คนรอบข้างที่สัมผัสรู้สึกได้
และก่อให้เกิดบรรยากาศที่อึดอัดในที่ทำงาน

ดังนั้นถ้าเจ้านายระดับสูงสุดอย่าง
บุญเกียรติ สั่งจิตตัวเองให้ “ไม่เครียด”
ลูกน้องย่อมทำงานอย่างสบายใจ

ด้วยความเชื่อในหลักจิตวิทยาแบบ
“คิดทางบวก” นี้เอง ทำให้เวลาใครถาม
คุณบุญเกียรติ ว่าทำอย่างไร
“ไอซีซี” จึงฝ่าวิกฤตปี 2540 มาได้
หนึ่งในคำตอบของ คุณบุญเกียรติ ก็คือ หลัก “6ไม่”

อย่าลืมนะครับ
…ไม่เหนื่อย ไม่กลัว ไม่ท้อ ไม่มีปัญหา ไม่ยาก ไม่เครียด
…ที่ดินแปลงไหนที่เราซื้อแล้ว ดีเสมอ
และ
…”สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ”

http://www.kosanathai.com/special/specialfeatures.asp?TID=41

Share

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.