หยุดสร้างวัฒนธรรม ‘โมโหแล้วทำลาย’ ให้เด็กเห็นสักที

จากเหตุการณ์เผากรุงฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาทมิฬที่ผ่านมา ถือเป็นน้องๆ สงครามกลางเมืองที่เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นทะเลเพลิงในชั่วข้ามคืน ซึ่งเชื่อว่าทุกบ้านที่ติดตามข่าวสาร คงจะอดใจหายไปกับภาพผู้ก่อการร้ายที่ทั้งทุบ เผา และปล้น จนกรุงเทพต้องวอดวาย และย่อยยับ พฤติกรรมเช่นนี้ ส่อให้เห็นถึงการโมโหแล้วทำลาย วัฒนธรรมที่แก้ไม่หาย จนน่าเป็นห่วงว่า เด็กไทยรุ่นใหม่จะติดนิสัยเหล่านี้ไปด้วยถ้าผู้ใหญ่ไม่หยุดสร้างวัฒนธรรม โมโหแล้วทำลายสักที

เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่เฉพาะแต่เพียงเผากรุงในครั้งนี้เท่านั้น แต่เคยมีตัวอย่างให้เห็นถึงความโกรธและทำลายตามสื่อต่างๆ เช่น โมโหคู่อริ ก็พากันชกต่อย ฟันแทงเพื่อชิงความเหนือกว่า หรือโมโหภรรยา/สามีเมื่อรู้ว่ามีกิ๊ก ก็คิดโกรธ จึงแก้แค้นด้วยวิธีเอาชนะ ทั้งสาดน้ำกรด หรืออะไรต่อมิอะไรที่เข้าข่ายโมโหแล้วทำลาย

ประเด็นนี้ ส่งผลต่อเด็กไม่น้อย ฟังได้จาก “วันชัย บุญประชา” ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ที่บอกว่า จากสถานการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มีอยู่ 2 ประเด็นคือ โมโหแล้วเผา หรือมีการวางแผนกันไว้ก่อนแล้ว แต่สำหรับความโกรธเกรี้ยวเกิดขึ้นได้กับทุกคน เวลาผิดหวังรุนแรงย่อมทำลายได้ทุกอย่าง เพราะเมื่อถูกปลุกให้รู้สึกว่าเป็นผู้ชนะ แต่พอไม่ได้ตามที่ต้องการ ย่อมเหมือนกับคนที่อกหักอย่างรุนแรง ทำให้ช็อก ขาดสติ และโมโหจนทำลายล้างได้

ภาพที่เกิดขึ้น ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว บอกว่า ส่งผลต่อเด็กได้โดยตรง ขึ้นอยู่กับตัวเด็ก ถ้าเด็กอยู่บ้านกับผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่ให้ความรู้ที่ดี และพูดในสิ่งที่ถูกต้อง เด็กก็จะได้รับวัคซีนที่ดี และมีภูมิคุ้มกัน ขณะที่เด็กอีกกลุ่ม ที่เข้าไปมุง หรือเป็นผู้กระทำร่วมก่อการ โดยไม่มีผู้ใหญ่บอกว่าสิ่งใดถูก หรือไม่ถูก อาจทำให้เด็กไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี โตขึ้นอาจก่อความรุนแรงได้ง่าย เพราะฉะนั้นพ่อแม่ หรือคนในบ้าน ควรเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น เวลาโมโหไม่ควรใช้ความรุนแรงต่อกัน

สำหรับบ้านที่มีลูกขี้โมโห แล้วชอบทำลาย เช่น ทำลายข้าวของ หรือผู้อื่น ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว แนะนำในเบื้องต้นว่า พ่อแม่ หรือคนดูแลต้องให้เด็กรู้จักอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาในขณะนั้นก่อน โดยต้องหยุดความโกรธ หรือความเกรี้ยวกราดของลูกให้ได้ ถ้าเป็นลูกเล็กให้โอบกอด เพื่อให้ลูกรู้สึกสงบ ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ควรจับให้เด็กมาอยู่ในมุมที่สงบ หลีกเลี่ยงการตี หรือใช้อารมณ์เข้าใส่กับลูก จากนั้นถามลูกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น รู้สึกอย่างไร เพื่อให้ลูกเข้าใจอารมณ์ตัวเอง

ด้าน “นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย” จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา เด็กมีการรับรู้เรื่องราว และภาพของความรุนแรงอันเนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองจากสื่อต่างๆ รอบกาย บางส่วนเข้าไปดู เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งได้ยินการพูดคุยของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งในช่วงนี้ และในสัปดาห์หน้าโรงเรียนเปิดเทอม พ่อแม่และครูก็คงหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องนี้กับเด็กๆไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้การรับรู้เรื่องราวความรุนแรงเหล่านี้ ไม่สร้างผลกระทบในระยะยาวที่นำไปสู่การปลูกฝังค่านิยมความรุนแรง ความก้าวร้าว หรือ หากจะเกิดขึ้น ก็เกิดผลกระทบน้อยที่สุด


(ซ้าย) นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย (ขวา) วันชัย บุญประชา

“พ่อแม่ ครู อาจารย์ ที่อาจจะต้องเจอกับคำถาม และต้องสื่อสารกับลูก ในช่วงนี้ควรสื่อสารพูดคุยในลักษณะกระตุ้นความคิด แทนการสรุปความโดยผู้ใหญ่ เช่นการถามว่าเด็กรู้สึกอย่างไร เห็นอย่างไร คิดว่าใครได้รับผลกระทบบ้าง คิดว่าการกระทำนั้นไม่เหมาะสมอย่างไร และเขาจะมีส่วนช่วยลดปัญหาความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร ตลอดจนทำให้ลูกเห็นผลสุดท้ายของความสูญเสียว่าเป็นอย่างนี้ อยากให้เกิดไหม มันมาได้อย่างไร มันมีวิธีอื่นอีกไหมนอกจากวิธีนี้” จิตแพทย์กล่าว

เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่จะต้องกระตุ้นให้เด็กคิดไม่ใช่เอาคำตอบสำเร็จใส่ไปในความคิดของเด็ก พ่อแม่และครูควรทำหน้าที่ผู้กระตุ้นความคิด โดยใส่คำถามมาทีละขั้นๆ ให้เห็นว่าผลลัพธ์เป็นแบบนี้มีใครๆได้ประโยชน์ไหม ก็ไม่มี มีแต่คนได้ความทุกข์ ไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ อาหารการกินก็ลำบาก จะไปโรงเรียนก็ไม่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้เด็กเติบโต มีความหนักแน่นทางความคิดในระยะยาวนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน ควรส่งเสริมให้เยาวชนมีค่านิยมและการปฏิบัติตนอันประกอบด้วย การอ่านให้มาก ฟังให้มาก และรู้จักคิดวิเคราะห์ให้มาก

“ระบบการเรียนการสอนของเรานั้นต้องพยายามปรับ มาในเรื่องของการฝึกคนให้คิดมากอ่านมาก ฟังมาก คือการอ่านให้มากจะได้มีการรับรู้มากขึ้น แม้แต่ตัวผมเองเมื่อก่อนเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ คนนี้เขียน ก็ดี น่าเชื่อ เรื่องเดียวกันแต่อีกคนหนึ่งเขียน ซึ่งมองจากคนละมุมเลยทำให้เราเป็นอีกแบบเลยก็ได้ อะไรอย่างนี้ หลังจากที่อ่านมากขึ้น มันก็ทำให้ต่อไปนี้จะเชื่อใครก็ต้องพิจารณา ไม่ใช่รีบด่วนสรุป เพราะว่าความเชื่อจะเป็นตัวกำหนดการกระทำทุกอย่างคนเราเชื่ออะไรก็จะกระทำ อย่างนั้น” จิตแพทย์กล่าว

“นอกจากนี้ ตัวพ่อแม่เอง อาจจะนำสถานการณ์ต่างๆ พูดคุยกัน ให้เด็กๆ ได้ฝึกได้เห็นว่าเขาสรุปว่าเป็นอย่างนี้ก็ได้นะ ไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้นะหรือเมื่อก่อนเชื่อแบบนี้ พอผ่านมาได้จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ทั้งที่เมื่อก่อนเชื่อมั่นมาก อันนี้เป็นทักษะชีวิตของทุกคนนะครับ ถ้าทุกคนทำได้โอกาสที่จะเกิดความเสียหายในสังคมนั้นก็น้อยลง วิกฤติจะเกิดได้ยาก ถ้าคนหนักแน่น เพราะว่าหากคนในสังคมนั้นหนักแน่น จะถูกดึงไปทางไหนก็ยากขึ้น เพราะใช้วิจารณญาณมากขึ้น ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมันมากขึ้น ถ้าคนรู้ไม่เท่าทันก็จะตกเป็นเครื่องมือ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการสื่อสารก็คือ ต้องกระตุ้นการคิด พยายามหลีกเลี่ยงที่จะใส่ข้อมูลสำเร็จเข้าไป เพราะว่าจะทำให้ตัวเด็กไม่ได้พัฒนา”

อย่างไรก็ดี จิตแพทย์รายนี้ ทิ้งท้ายว่า ช่วงนี้พ่อแม่ที่มีลูกเล็ก และมีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรมีเวลาใกล้ชิดกับลูก ไปดูแลรับไปส่งสักระยะหนึ่ง ในขณะเดียวกันตัวพ่อแม่เอง ควรเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตนเองด้วย พักผ่อนให้พอ ให้เวลาต่อกันให้มาก สร้างอบอุ่นใจในครอบครัว สร้างความมั่นใจ เพื่อเป็นหลักยึดของกันและกัน เพราะวิกฤตที่ทำให้คนใดคนหนึ่งเครียด มีปัญหาสุขภาพจิต ก็ส่งผลต่อคนในครอบครัว ใครได้รับผลกระทบ ก็เหมือนล้มลงไป แต่หากอีกคนยังยืนอยู่ได้ ก็จะยังพยุงกันไปต่อได้

///////////////////

ปล. อย่าขี้โมโห ถ้าจะโมโห โปรดอย่าทำลาย! และคงจะดีไม่น้อย ถ้าประเทศไทยมีข่าวที่เกิดจากความโกรธแล้วทำลายน้อยลง เหมือนกับที่ทีมงานได้อ่านเจอพาดหัวข่าวที่ประชดสังคมในเว็บ www.exteen.com โพสต์โดยคุณ Monboy01 เมื่อวันที่ 26 ก.พ.53 เวลา 21:37 จึงนำมาเสนอให้อ่านทิ้งท้ายกัน

“แค้นเมียแอบมีชู้ เลยฟ้องหย่าก่อนสร้างตัวแล้วขับสกายไลน์+ควงเมียใหม่งามหยดไปเย้ยเมียเก่า บอกรู้งี้เลิกกับมันตั้งนานแล้ว”

“เขม่นหน้าอริต่างสถาบัน นัดกันไปสอบ TOEIC ประชันกึ๋น ตอนแรกท้าดอทเอมั้ย แต่อีกฝ่ายถนัดภาษาอังกฤษเลยย้ายสังเวียน”

“สีในการเมืองไม่ตรงกัน เลยชวนกันไปทำบุญเลี้ยงพระ บอกเรื่องนี้ต้องเจอกันในวัด”

ถึงจะเป็นเรื่องที่เพ้อเจ้อ แต่ถ้าเป็นอย่างที่คุณ Monboy01 โพสต์ ก็คงจะดีไม่น้อยนะครับ ^_^

ที่มา http://manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000071158

Share

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.