“โรคความดันต่ำ” ในมุมมองแพทย์จีน

มีคนขอให้เขียนเรื่องความดันโลหิตต่ำ ซึ่งผมเห็นว่าแพทย์จีนมีมุมมองที่น่าสนใจดีเลยเอามาแบ่งปันกันครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่าความดันต่ำคืออะไร? ความดันโลหิตต่ำก็คือ การใช้เครื่องวัดความดันวัดค่าออกมาได้ต่ำกว่า 100/60 อาการที่มักพบคือ เป็นคนที่ไม่มีแรง เวียนหัว หัวหมุนและคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย

ทีนี้มาดูว่าแพทย์จีนมองความดันโลหิตต่ำว่าอย่างไร

คำตอบคือ ในศาสตร์แพทย์จีนนั้น ไม่มีคำว่า “ความดันโลหิต”ครับ เพราะฉะนั้นไม่ว่ามันจะสูงหรือต่ำ เราไม่สน มันไม่มีผลในการตัดสินใจเลือกใช้ยารักษา ที่เราสนใจคืออาการของคุณต่างหากนั่นก็คือ “เป็นคนที่ไม่มีแรง เวียนหัว หัวหมุนและคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย”

เวลาหมอจีนรักษาโรคนั้นจะเน้นพิจารณาที่อาการเป็นหลัก แล้วใคร่ครวญว่าจากอาการที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนให้เราเห็นว่าอวัยวะภายในส่วนใดทำงานผิดปกติบ้าง แล้วจึงเปิดยา เช่น ปวดเมื่อยหลังจะนึกถึงไต ตาแดงจะนึกถึงตับหรือว่าธาตุไฟ เจ็บจุกสีข้างจะนึกถึงตับแม้ว่าจะเป็นสีข้างด้านซ้ายก็ตาม (ตับอยู่ทางขวา) นอนไม่หลับจะนึกถึงหัวใจและเลือด เป็นต้น (อวัยวะที่กล่าวถึงคืออวัยวะในทางแพทย์จีน ไม่ใช่ตับ ไต หัวใจจริงๆในทางสรีระวิทยานะครับ) จากอาการของความดันโลหิตต่ำที่ว่ามาข้างบนนั้นแพทย์จีนจะบอกว่า

“เลือดและลมปราณของม้ามไม่เพียงพอ”

ม้ามในแพทย์จีนเป็นแหล่งผลิต “สารอาหาร” (เลือดและลมปราณ) ถ้าม้ามไม่แข็งแรง “สารอาหาร”ก็จะผลิตได้ไม่เพียงพอ ลมปราณพร่องก็จะเป็นคนไม่มีแรง เหนื่อยง่าย เลือดพร่องก็จะเวียนหัว อันนี้อธิบายง่ายๆนั่นแหละครับว่าเลือดไปเลี้ยงไม่พอ เลือดพร่องที่บอกนี้ไปตรวจเลือดอาจจะไม่เจออะไรผิดปกติเลยก็ได้ครับ

ในคนไข้บางรายมีอาการใจสั่น ใจเต้นเร็ว หมอจีนจะอธิบายว่าเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ (กรณีอธิบายคล้ายกับหัวใจขาดเลือดของแผนปัจจุบัน)

นอกจากอาการเหล่านี้ เลือดและลมปราณของม้ามไม่เพียงพอยังอาจจะก่อนให้เกิดอาการที่คุณคาดไม่ถึงได้อีก เช่น ท้องเสีย นอนไม่หลับ ฝันเยอะ หน้าซีด เลือดออกง่าย ประจำเดือนมาเยอะ หรือมาถี่ เป็นต้น

เพราะฉะนั้นถ้าผมตรวจ ผมจะไม่ได้ให้ความสนใจค่าความดันคุณเป็นหลักครับ บอกแล้วว่าหมอจีนเราไม่มีความดันโลหิต เมื่อผมรักษาให้อาการต่างๆของคุณหายได้นั่นนับเป็นการรักษาหายแล้ว แม้ว่าค่าความดันคุณจะคงเดิมเหมือนครั้งแรกที่มาหาผมก็ตาม

วิธีรักษา “ความดันต่ำ” นี้ เราก็จะบำรุงเลือด บำรุงลมปราณครับ แต่จะให้บอกว่าไปซื้อยาบำรุงยังไงนั้นคงบอกไม่ได้ เพราะในแต่ละคนไข้ก็จะมีความไม่สมดุลย์ที่ต่างกัน ต้องมาหาหมอพิจารณาเป็นรายคนไป ตรงนี้ผมจะบอกวิธีกายบริหารง่ายๆที่สามารถบำรุงลมปราณได้ให้ไปทำกันแทนครับ

วิธีการก็ง่ายมากเลยครับ หาจุด 足三里 (จู๋ซานหลี่) ที่บริเวณหน้าแข้ง แล้วก็กำมือทุบๆบริเวณจุดนี้ซักสิบกว่าที ทำทั้งสองขาก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ทำทุกวันใช้เวลาแค่ไม่เท่าไหร่เองครับ จุดจู๋ซานหลี่นี้เป็นจุดบนเส้นลมปราณกระเพาะครับ พอกระเพาะแข็งแรงก็กินข้าวอร่อย ดูดซึมสารอาหารดี ก็นำไปผลิตเป็นเลือดและลมปราณให้เราได้ครับ ถึงขั้นมีคำกล่าวว่ากระตุ้นจุดนี้มีค่าเท่ากับกินไก่ตุ๋นเลยทีเดียว

วิธีหาจุดนี้ ถ้าเรางอเข่า เราจะรู้สึกว่าตรงหัวเข่าเรามีรอยบุ๋มอยู่สองข้าง ลองใช้มือกดๆดูก็จะเจอครับ ในรูปจุดที่อยู่เหนือนิ้วชี้คือรอยบุ๋มด้านนอก ด้านในจะมีอีกบุ๋มนึง จาก นั้นก็เอานิ้วสี่นิ้วประกบชิด โดยเอานิ้วชี้วางไว้ใต้ระดับรอยบุ๋มที่หัว เข่า ระดับที่นิ้วก้อยแนบอยู่คือระดับของจุดจู๋ซานหลี่ เอาอีกมือมาลองลูบใต้นิ้วก้อยจะเจอกระดูกหน้าแข้ง จู๋ซานหลี่จะอยู่ด้านนอกของกระดูกหน้าแข้งถัดไปประมาณ 1.5 ซม.โดยประมาณ (จุดที่อยู่ใต้นิ้วก้อยในรูปก็คือจู๋ซานหลี่ครับ) ขาทั้งสองข้างหาเหมือนกันครับ หาเจอก็ใส่ไม่ยั้งไปเลยครับ คิดซะว่ากำลังกินไก่ตุ๋นอยู่ละกัน เวลาเคาะจะรู้สึกว่าบริเวณนั้นจะชาๆ เสียวๆ นั่นแสดงว่ามาถูกทางแล้วครับ

ท่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนความดันต่ำทำนะครับ ใครๆก็ทำได้ทั้งนั้นครับ เหมือนเป็นการบำรุงร่างกายทางนึง ถือซะว่าวันนี้หมอเชนใจป้ำเลี้ยงไก่ตุ๋นทุกคน ซัดกันให้เต็มคราบเลยนะครับ อิๆ

เพิ่มเติมนิดหน่อยสำหรับเรื่องความเข้าใจผิดอย่างนึงเกี่ยวกับการกินแอลกอฮอลล์รักษาโรคความดันต่ำ คือเขาคิดว่าแอลกอฮอลล์ทำให้เลือดลมเดิน มันจะได้พาเลือดลมไปเลี้ยงทั่วร่างกาย แต่อย่างที่บอกว่าในทางแพทย์จีนมันคืออาการเลือดและลมปราณไม่เพียงพอ น้ำไม่เต็มสายยาง ต่อให้เปิดแรงดันให้น้ำเดิน มันก็ไปเลี้ยงที่อื่นๆได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว พอแรงดันหายไป อาการก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุครับ แถมกินแอลกอฮอลล์มากไปก็ไม่ดีอีกครับผม

โดย คุณหมอเชน http://aunlamun.exteen.com/20090605/entry

Share

2 thoughts on ““โรคความดันต่ำ” ในมุมมองแพทย์จีน

  1. Name

    ไม่มีรูปแสดงให้ดู ก็เลยไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ค่ะ
    แต่จะพยายาม

    Reply

Leave a Reply to sakul Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.